เปิดใจ ธวัช มีชัย นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย กับการวางมาตรฐานออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อวิศวกรไทย รวมทั้งการจัด GEN THAI PAVILION ครั้งแรกในงาน Smart City Solutions Week 2019

“เครื่องกำเนิดไฟฟ้า” นับเป็นหัวใจหลักของทุกอุตสาหกรรม เนื่องจากไฟฟ้าคือพลังงานหลักในการขับเคลื่อนของทุกๆองคาพยพของอุตสาหกรรม ฉะนั้น “มาตรฐานออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า” จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะเป็นรากฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นควบคู่ไปกับความปลอดภัย
นี่จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “สมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย (GEN THAI)” ที่มีบทบาทสำคัญในการ จัดทำมาตรฐานออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Design and Installation Standard of Generator Set) รวมทั้งส่งเสริมวิชาชีพวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่เทคโนโลยีระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“6 วัตถุประสงค์”ขับเคลื่อนวงการเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย
ธวัช มีชัย นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย กล่าวถึงที่มาของสมาคมฯ ว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2555 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการมาตรฐานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อจัดทำมาตรฐานออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ของประเทศไทยเนื่องจากเดิมใช้มาตรฐานของต่างประเทศ ต่อมาคณะอนุกรรมการฯมีแนวคิดที่จะตั้งเป็นชมรมเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงมีการจัดตั้งชมรมขึ้นเมื่อ 1 ก.ค. 2557 หลังจากนั้นเมื่อ 7 ก.ค. 2558 จึงยกระดับเป็นสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย
สำหรับวัตถุประสงค์ของสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทยมี 6 ข้อคือ 1. เพื่อส่งเสริมวิชาชีพวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ 2. เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่เทคโนโลยีระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3. เป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรมมาตรฐานด้านระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 4. เป็นศูนย์กลางรณรงค์ การส่งเสริมความรู้ ด้านความปลอดภัยในระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแก่บรรดาเครือข่ายและสมาชิกทั่วประเทศ 5. เพื่อเป็นศูนย์รวมด้านวิชาการของผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ทางด้านระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและสร้างความสามัคคีในหมู่สมาชิกของชมรมฯ ซึ่งปัจจุบันมีอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นสมาชิกจำนวนมาก 6. เพื่อเป็นการสนับสนุนและประสานงานให้กับภาครัฐและภาคเอกชนในด้านเทคโนโลยีระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
ธวัช กล่าวว่า ปัจจุบันสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทยมีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 394 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคล 32 ราย และ บุคคล 362 ราย
กำหนดมาตรฐานออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อวิศวกรไทย
นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย กล่าวว่า บทบาทสำคัญของสมาคมฯคือ การร่วมมือกับ วสท. ในการวางมาตรฐานออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งผ่านการทำเทคนิคพิจารณ์ และจัดพิมพ์จำหน่ายครั้งแรกโดย วสท. ในปี 2559 เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับวิศวกรไทยในการออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าภายในประเทศ
“บางครั้งมาตรฐานที่สมาคมฯจัดทำขึ้น ยังถูกนำไปใช้เป็นแนวทางออกแบบติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงด้วย” นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทยกล่าว
นอกจากนี้ สมาคมฯยังได้สนับสนุนวิทยากรให้กับ วสท. ในการจัดอบรมเกี่ยวกับมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งปัจจุบัน วสท. ได้จัดอบรมไปแล้ว 12 รุ่น และกำลังจะจัดรุ่นที่ 13 ภายในเดือนตุลาคม 2562
ธวัชกล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน มาตรฐานออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า อยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อแบ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในสถานที่ต่างๆ ได้แก่ อาคารทั่วไป, สถานพยาบาล, ท่าอากาศยานและดาต้าเซ็นเตอร์

จัดอบรมตลอดปีพัฒนาวงการเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย
นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย กล่าวอีกว่า สมาคมฯได้ร่วมกับ บริษัท อินดี้ด ไลน์ จำกัด จัดอบรมเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า, ระบบสายดินสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า, อุปกรณ์สับเปลี่ยนแหล่งจ่ายไฟอัตโนมัติ และอุปกรณ์ต่อตรง, อุปกรณ์ป้องกันและการเดินสายไฟฟ้าเป็นต้น เพื่อให้ความรู้แก่วิศวกรผู้ออกแบบ, ผู้ดูแลอาคาร, และผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งมีตารางการจัดอบรมตลอดทั้งปี
นอกจากนี้สมาคมฯยังจัดกิจกรรมช่วยเหลือสังคมภายใต้ “มูลนิธินายช่างไทยใจอาสา” ให้ความช่วยเหลือในการตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยปัจจุบันกำลังไปตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ซึ่งมีติดต่อกันไว้ 9 แห่ง โดยตรวจสอบว่าสภาพของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมใช้งานหรือไม่ หากเกิดไฟฟ้าดับหรือขัดข้อง เพราะเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ช่วยชีวิต
“สมาคมฯยังมีเข้าไปให้การช่วยเหลือภาคเอกชนและราชการที่ประสบปัญหาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไม่สามารถใช้การได้ เราก็เข้าไปให้ความรู้และให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้งานไม่ได้ประสิทธิภาพจนสามารถใช้งานได้” ธวัชกล่าว
เทรนด์เทคโนโลยีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
ธวัช กล่าวถึงแนวโน้มเทคโนโลยีและมาตรฐานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าว่า ปัจจุบันผู้ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีความสนใจเทคโนโลยีเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามากขึ้น มีการเลือกเครื่องยนต์ต้นกำลังที่เป็นเครื่องยนต์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบควบคุมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เป็น Microprocessor ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า แทนระบบเก่าที่เป็นเครื่องยนต์ต้นกำลังแบบ Mechanic Engine และระบบควบคุมแบบ Analog ทำให้ขนาดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในปัจจุบันมีขนาดเล็กกว่าเดิมมาก
ขณะที่ในเรื่องมาตรฐานต่างๆสามารถหาดูได้ง่ายจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็ว เช่น มาตรฐานNFPA, มาตรฐาน UPTIME มาตรฐาน ANSI/BICSI มาตรฐาน ISO 8528 และมาตรฐาน IEC เป็นต้น จึงทำให้มีการนำมาตรฐานต่างๆเหล่านี้มาใช้ประกอบการออกแบบ ติดตั้งและใช้งานเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
ครั้งแรก!กับพาวิลเลี่ยนรวบรวมเทคโนโลยีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
ธวัช กล่าวว่า จากที่เคยได้รับเชิญไปชมงาน Secutech ที่ประเทศไต้หวัน และได้พบกับคุณนิคม เลิศมัลลิกาพร ประธานบริษัท เวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี. จำกัด ในฐานะตัวแทนด้านการจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติชั้นนำของไทย ก็ได้มีการหารือกัน ทำให้สมาคมฯมีความต้องการที่จะจัดพาวิลเลี่ยนของสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย เพื่อนำสินค้าเกี่ยวกับระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งมีความสำคัญกับระบบป้องกันอัคคีภัยมาจัดแสดงเพื่อให้บุคคลทั่วไปมีความเข้าใจระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามากขึ้น
สำหรับพาวิลเลี่ยนของสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย ที่จัดแสดงในงาน Thailand Lighting Fair, Thailand Building Fair และ Secutech Thailand 2019 ระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2562 ที่ไบเทค บางนานั้น จะอยู่บริเวณ ฮอลล์ 105 พื้นที่ 180 ตารางเมตร โดยมีบริษัทสมาชิกของสมาคมฯร่วมนำเทคโนโลยีเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาจัดแสดงได้แก่ บริษัท คัมมิ่นส์ ดีเคเอสเอส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อีเมค จำกัด, บริษัท ฟูจิ เอสเอ็มบีอี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เกทเวย์ อินเตอร์เทรด จำกัด, บริษัท ไอยรา อินเตอร์เทรด จำกัด, บริษัท มัลติโค เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท พิลเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เพาเวอร์เรด จำกัด, บริษัท พียูที เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท ยูนิติสส์ จำกัด
สัมผัสเทคโนโลยีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในพาวิลเลี่ยนพร้อม 2 งานสัมมนาใหญ่
นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมพาวิลเลี่ยนของสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทยในปีนี้ จะได้ชมเทคโนโลยีระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใน 4 หมวด คือ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า, อุปกรณ์ประกอบ, อุปกรณ์ซ่อมบำรุง, อุปกรณ์ทดสอบ อาทิ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบติดตั้งภายในอาคาร (Indoor Type Generator set), เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบติดตั้งภายในตู้ครอบ (Enclosed Type Generator set)
อุปกรณ์ประกอบระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เช่น สวิทช์สับเปลี่ยนแหล่งจ่ายไฟอัตโนมัติ (ATS), ตู้สวิทช์บอร์ด, โหลดเทียม (Resistive Load Bank), ระบบขนานเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Synchronizing Panel), ชุดจ่ายกำลังไฟฟ้าสำรอง (Battery Power Box) รวมทั้งยังมีการให้คำปรึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอื่นๆด้วย
นอกจากนี้ภายในงาน สมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย ยังจัดการสัมมนาและอบรมให้กับผู้สนใจ 2 หัวข้อได้แก่ การสัมมนาเรื่อง “การออกแบบชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน รุ่นที่2 (Design of The Emergency Power Supply, EPS)” ระหว่างวันที่ 29 – 31 ตุลาคม 62 โดยการสัมมนาดังกล่าวจะเป็นหลักสูตรการอบรม 3 วัน โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหลังการสัมมนาผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์ตั้งแต่ 75 % ขึ้นไปจะได้รับ “หนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ประเภท ก” โดยสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย
ขณะที่อีกหัวข้อ สมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทยได้ร่วมกับ สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร, สมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย, สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาเครื่องกลและไฟฟ้าไทย จัดการอบรม “พื้นฐานความรู้วิศวกรรมไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขอรับใบอนุญาต ระดับภาคีวิศวกรไฟฟ้า/เครื่องกลพิเศษ (เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง)” โดยการอบรมจะจัดระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม ภายในงานที่ไบเทค บางนาเช่นเดียวกัน
ที่สำคัญสมาคมฯได้มีส่วนลดพิเศษค่าลงทะเบียนให้กับผู้เข้าร่วมงานโดยเฉพาะด้วย ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณประภัสสร บุญสม 08-1458-4441, 0-2184-4612
พบกับ พาวิลเลี่ยนของสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย (THAI GENERATOR ASSOCIATION PAVILION) ได้ในงาน Thailand Lighting Fair, Thailand Building Fair และ Secutech Thailand 2019 ซึ่งจะจัดขึ้นพร้อมงาน Digital Thailand Big Bang ภายใต้แนวคิดร่วม Smart City Solutions Week 2019 ระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2562 ณ ฮอลล์ 104-105 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา