
Autonomous car หรือ รถยนต์ไร้คนขับ คือ รถยนต์ที่มีความสามารถในการมองเห็นและเข้าใจสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวของรถ และสามารถขับเคลื่อนจากที่นึงไปยังอีกที่นึงได้อย่างปลอดภัย และไม่ต้องการคำสั่งในการบังคับจากมนุษย์ โดยผ่านการควบคุมจากสมองซึ่งก็คือ AI ที่อยู่ในตัวรถหรือบน Cloud ซึ่ง Autonomous car นั้นใช้เทคโนโลยีทั้ง 4 ด้านเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ
1. Computer Vision (คอมพิวเตอร์วิทัศน์) เปรียบเสมือนส่วนของการรับรู้ของรถ คือการใช้กล้อง เรดาร์ หรือเลเซอร์ เพื่อให้รถสามารถมองเห็น รู้ระยะ ความใกล้ไกลของวัตถุหรือรถต่างๆที่อยู่รอบตัว เป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการขับขี่อัตโนมัติ
2. Deep Learning (การเรียนรู้เชิงลึก) เปรียบเสมือนสมองของรถยนต์ไร้คนขับ หลังจากที่รถมีข้อมูลที่ได้จากกล้องวีดีโอเซนเซอร์ต่างๆ ก็จะส่งข้อมูลเข้ามาที่ส่วนของสมองส่วนนี้ ซึ่งทำหน้าที่ตั้งแต่ทำความเข้าใจว่ารูปที่ได้จากกล้องวีดีโอนั้น ส่วนไหนเป็นถนน ส่วนไหนเป็นรถยนต์คันอื่น หรือคนกำลังข้ามถนน จนไปถึงในการตัดสินใจว่าจะให้รถขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา
3. Robotic (หุ่นยนต์) เปรียบเสมือนเส้นประสาท หลังจากที่ได้ข้อมูลในการตัดสินใจจากสมองมาแล้ว ส่วนนี้จะทำหน้าที่แปลงสัญญาณที่ได้และสัญญาณไฟฟ้าส่งไปที่ล้อและการควบคุมต่างๆ เพื่อให้รถยนต์อัตโนมัติสามารถเดินทางไปได้
4. Navigation (การนำทาง) เป็นระบบส่วนที่ใช้ในการติดต่อกับผู้ใช้งานสำหรับการตั้งค่าการเดินทาง ต้นทางไปยังปลายทาง รวมไปถึงการวิเคราะห์สภาพการจราจรและการนำทางบนเส้นทางต่างๆ ไปยังจุดหมาย
ประโยชน์ของรถยนต์ไร้คนขับ
รถยนต์ไร้คนขับจะเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่รายบุคคลให้กลายเป็นรูปแบบการขับขี่ที่คำนวณเป็นระบบได้ กล่าวคือสามารถควบคุมยานพาหนะทั้งหมดบนท้องถนนและประเมินระบบการจราจรโดยรวมเพื่อที่จะพิจารณาว่ารถแต่ละคันควรจะทำงานแบบใด มีผลทำให้ การจราจรคล่องตัว และ เกิดความปลอดภัยบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น โดยมีความเชื่อหลักที่ว่าเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับนี้จะสามารถช่วยลดอุบัติเหตุร้ายแรงบนท้องถนนที่อาจทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ชีวิต ซึ่งอุบัติเหตุร้ายแรงบนท้องถนนส่วนใหญ่ที่อาจทำให้ถึงชีวิตนั้นมักจะเกิดขึ้นจากความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์เอง ความประมาทนี้อาจแบ่งออกได้เป็นสองประเภทหลักๆ คือ
1. เกิดจากความไม่พร้อมใช้งานของตัวรถยนต์ ส่วนมากมักเกิดจากผู้ขับขี่ไม่ตรวจสอบสภาพรถยนต์ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
2. ความไม่พร้อมของตัวผู้ขับขี่เอง ตัวอย่างเช่น ความเหนื่อยล้าจากการขับขี่ ความมึนเมา หรือ ความไม่ชำนาญในการขับขี่ เป็นต้น
ไม่ว่าเราจะชอบ หรือวิตกกังวลไปกับรถยนต์ไร้คนขับ แต่ดูเหมือนว่านวัตกรรมนี้เตรียมพร้อมที่จะเข้ามาในชีวิตของเราแล้ว ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับโลกอย่าง General Motors และบริษัทผลิตรถยนต์หลายแห่งทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างประกาศว่าจะพัฒนารถยนต์แบบไร้คนขับโดยสมบูรณ์และพร้อมวางตลาดในช่วงปี 2020 – 2021 ดูเหมือนว่าการเดินทางบนเส้นทางรถยนต์ไร้คนขับของเหล่านักประดิษฐ์กำลังมุ่งไปสู่จุดหมายอย่างแน่นอน แต่ทว่างานหนักหนาที่ยังรอพวกเขาอยู่คือจะทำให้สังคมยอมรับและไว้วางใจให้มันเป็นผู้ช่วยในชีวิตของเราได้อย่างไร เมื่อถึงเวลานั้น รถยนต์ไร้คนขับอาจกลายมาเป็นเป็นนวัตกรรมที่พลิกโฉมโลกมนุษย์ของเราไปได้อย่างสิ้นเชิง