
การผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์เพื่อป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาลทำให้ ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตในอาคารใจกลางเมืองอีกครั้ง หลังที่ผ่านมาอาคารเหล่านี้มีปริมาณคนเข้ามาใช้งานเบาบางเนื่องจากต่างเก็บตัวอยู่บ้านเพื่อหยุดยั้งการระบาดของไวรัส
หนึ่งในโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นใจกลางเมืองหลวงและกลายเป็นจุดศูนย์รวมของผู้คนก็คือ โครงการมิกซ์ยูส (Mixed-use) ที่เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีทั้ง ที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และพื้นที่พาณิชยกรรม เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม อยู่ในอาคารเดียวกัน
เมื่อผู้คนต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ภายในอาคารตั้งแต่พักอาศัย ทำงาน ไปจนถึงการผ่อนคลายด้วยการช้อปปิ้ง รับประทานอาหารในศูนย์การค้าที่อยู่ในสถานที่เดียวกันนั้น การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็น New Normal ที่เจ้าของอาคารต้องโฟกัสเพื่อตอบสนองผู้ใช้อาคารที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคมากขึ้น
หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ นวัตกรรมป้องกันโรคระบาดในอาคาร
เมื่อเร็วๆนี้ “Northpoint City” ห้างสรรพสินค้าของกลุ่ม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ในสิงคโปร์ ได้ใช้หุ่นยนต์ฉายรังสียูวี–ซี เพื่อฆ่าเชื้อโรคภายในพื้นที่ หลังจากห้างได้เริ่มกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ จากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาล โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นฝีมือการพัฒนาของ พีบีเอ กรุ๊ป ผู้ให้บริการโซลูชั่นครบวงจรด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ชั้นนำ
คุณสมบัติเด่นของหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วย รังสียูวี–ซี คือ การฉายรังสียูวี-ซี (UV-C) มีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อโรคอื่นๆในสถานที่ และมีระบบขับเคลื่นอัตโนมัติ (Automated Guided Vehicle – AGV) ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีความแม่นยำ ในการเข้าฉายรังสียูวี-ซีฆ่าเชื้อในพื้นที่
เมื่อเปรียบเทียบการพ่นฆ่าเชื้อไวรัสด้วยน้ำยา กับการใช้หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ พบว่า หุ่นยนต์สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมพื้นที่ตามที่กำหนด โดยไม่ก่อให้เกิดสารตกค้าง อีกทั้งยังใช้ระยะเวลาในการฆ่าเชื้อน้อยกว่าการพ่นด้วยน้ำยา ซึ่งเหมาะกับการนำมาใช้ปฏิบัติงานในสถานที่ที่มีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สถานที่ราชการ โรงเรียน สำนักงาน คอนโดมิเนียม ฟิตเนส รถไฟฟ้า โรงงาน และ คลังสินค้า ฯลฯ
นอกจากนี้ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อยังมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานด้วยโซลูชั่นระบบเคลื่อนที่อัตโนมัติที่มีความแม่นยำและประสิทธิภาพสูง ทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่เพื่อฉายรังสียูวี-ซีได้ด้วยตัวเอง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานปลอดภัยจากรังสียูวี-ซี ซึ่งมีผลต่อผิวหนังและเยื่อบุตา และยังเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานด้วย
หุ่นยนต์ตัวนี้ได้มีการเปิดตัวในประเทศไทย โดย บริษัท พีบีเอ โรบอทิคส์ (ประเทศไทย) ซึ่งปัจจุบันมีสถานที่ต่างๆให้ความสนใจนำหุ่นยนต์ดังกล่าวไปใช้จำนวนมาก
เว้นระยะห่างบนบันไดเลื่อนด้วยเครื่องแจ้งเตือนอัตโนมัติ
หลังจากห้างสรรพสินค้าต่างๆในบ้านเราได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาล ทางผู้ประกอบการเจ้าของห้างก็ได้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาช่วยป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ภายในพื้นที่
หนึ่งในนั้นก็คือ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัล ที่มีการคิดค้นนวัตกรรมเครื่องให้สัญญาณในการใช้บันไดเลื่อนภายในศูนย์การค้าเพื่อให้เกิดการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลขณะใช้บันไดเลื่อน โดยเริ่มใช้บริการที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว และเตรียมจะนำไปใช้ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลอีกหลายแห่งทั่วประเทศ
การทำงานของเครื่องดังกล่าวจะทำหน้าที่คอยให้สัญญาณไฟเขียว-ไฟแดงแก่ผู้ใช้บริการเพื่อจัดระเบียบการใช้บันไดเลื่อนให้มีการเว้นระยะห่าง 2 ขั้นระหว่างบุคคลแบบอัตโนมัติ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ศูนย์การค้า ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ก็ได้พัฒนาลิฟท์ที่ใช้เท้าเหยียบเพื่อใช้บริการ โดยระหว่างชั้นจะมีแป้นเหยีบให้ผู้ใช้บริการใช้เท้าเหยียบเพื่อเลือกว่าจะขึ้นหรือลง จากนั้นเมื่อเข้าไปภายในลิฟท์จะมีแป้นเหยียบเพื่อเลือกชั้นต่างๆ ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ต้องใช้มือสัมผัสปุ่มลิฟท์ทำให้สามารถป้องกันเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี ซึ่งทางซีคอนสแควร์ก็ได้เตรียมกระจายลิฟท์ที่มีการควบคุมด้วยการใช้เท้าเหยียบให้ครอบคลุมทั่วทั้งศูนย์การค้า

ระบบปรับอากาศอีกหนึ่งหัวใจสำคัญป้องกันเชื้อ
พื้นที่ปิดที่มีการปรับอากาศนั้น ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการสะสมเชื้อโรคมากกว่าพื้นที่เปิดโล่ง เมื่อต้องป้องกันการระบาดของไวรัส จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญด้านการถ่านเทและการระบายอากาศเป็นพิเศษ โดย “สมาพันธ์การปรับอากาศและทำความเย็นไทย” ได้ออกข้อแนะนำด้านการปรับอากาศและระบายอากาศ สำหรับการเปิดห้างสรรพสินค้าเพื่อป้องกันโควิด ซึ่งนับว่าเป็นข้อแนะนำที่สามารถนำไปใช้ได้กับอาคารมิกซ์ยูสได้เช่นกัน ดังนี้
1. บริหารจัดการให้มีการถ่ายเท และการระบายอากาศให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีการใช้งาน เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค
2. ให้มีการระบายอากาศหรือการเติมอากาศจากภายนอกอาคารในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศภายในห้องทั้งหมดภายใน 60 นาที (ไม่น้อยกว่า 1 Air Change per hour) สำหรับห้างสรรพสินค้า และภายใน 30 นาที (ไม่น้อยกว่า 2 Air Change per hour) สำหรับร้านอาหารเพื่อเจือจางปริมาณของเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศ
3. ในกรณีของโต๊ะอาหารในร้านอาหารที่มีที่นั่งหลายคน ให้ผู้ทานอาหารเป็นครอบครัวเดียวกันเท่านั้น และไม่ควรเกินตามที่ภาครัฐอนุญาต จะต้องจัดให้มีระบบการจ่ายอากาศที่สะอาดเฉพาะที่ เช่น อากาศที่ผ่านเครื่องกรองอากาศ และมีการระบายอากาศเฉพาะที่ เพื่อให้บริเวณโต๊ะอาหารมีความดันอากาศเป็นลบ (Negative pressure)
4. ให้มีระบบกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดปริมาณฝอยละอองที่อาจเป็นพาหะของการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
5. บริหารจัดการให้มีการระบายอากาศทิ้งก่อน และหลังช่วงเวลาเปิดทำการ 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้มีการล้างอากาศเดิมทิ้งประจำวัน
6. บริหารจัดการให้มีการทำความสะอาดระบบและอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศและระบบระบายอากาศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปริมาณการสะสมของเชื้อโรค
*******************
ข้อมูลและภาพจาก
สมาพันธ์การปรับอากาศและทำความเย็นไทย
pbarobotics.com
เซ็นทรัลพัฒนา
Seacon Square