
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คำว่า Smart Farm หรือ เกษตรอัจฉริยะ มีให้เราได้เห็น หรือได้ยินกันมากขึ้นตามยุคสมัย จากการเกษตรสมัยก่อนที่ใช้วิธีดั้งเดิม ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงเกษตรกร 2.0 รัฐบาลได้สนับสนุนการใช้เครื่องจักรเบา (Light Machine) แทนแรงงานคนและใช้ควบคุมระบบน้ำเพื่อให้เพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี ไปจนถึงเครื่องจักรหนัก (Heavy Machine) ที่ทำให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์การเกษตรส่งออกได้เต็มรูปแบบ ในเมื่อได้มีเครื่องจักรใหญ่ ๆ ช่วยในการผลิตและขนส่งไปเรียบร้อยแล้ว เกษตร 4.0 จะเข้ามามีส่วนช่วยเกษตรกรอย่างมากในที่นี้คือความแม่นยำ และการควบคุมคุณภาพสินค้า อาจเป็นตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมเมล็ดพันธุ์ หรือขั้นตอนการเตรียมดินเลยก็ได้ เรียกกันง่าย ๆ ว่าการสร้างฟาร์มอัจฉริยะ หรือที่ในแวดวงเกษตรกรรมเรียกกันว่าเกษตรแม่นยำสูง
เกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture)
โดยใช้โดรนช่วยตรวจสอบสภาพพื้นที่ หลายคนจะคิดว่าโดรนเป็นสิ่งไกลตัว แต่ใครจะไปคิดว่าสามารถใช้ในเชิงเกษตรได้ด้วย ซึ่งประเทศไทยเราได้มีสตาร์ทอัพ ชื่อว่าบริษัทสกายวีไอวี ใช้โดรนตรวจสภาพไร่ในเชิงลึก โดยจะมีการใช้โดรนอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ โดรน 4 ใบพัด ซึ่งเหมาะกับการใช้กับไร่ขนาดเล็กไปถึงกลาง ส่วนโดรนปีกนก เหมาะแก่การใช้กับไร่ที่มีพื้นที่ใหญ่ ขนาดประมาณ 100 ไร่ขึ้นไป สามารถบินได้สูง นาน และไกลกว่า ซึ่งสิ่งที่ทำให้โดรนเหล่านี้แตกต่างจากโดรนทั่วไปคือสามารถตั้งโปรแกรมล่วงหน้าโดยใช้แผนที่ ดาวเทียมจาก Google ได้เลย ไม่ต้องบังคับ จึงได้ข้อมูลที่มีความเสถียรมากกว่าเดิม
การบินจะเกิดขึ้น 2 รอบ รอบแรกจะใช้กล้องถ่ายภาพธรรมชาติความละเอียดสูง เพื่อสร้างแผนที่ 3 มิติและวิเคราะห์สภาพพื้นที่โดยละเอียด จากนั้นก็ใช้โดรนบินอีกรอบหนึ่ง แต่คราวนี้ใช้กล้อง Multispectral เป็นกล้องที่มี 5 เลนส์ โดยแต่ละเลนส์จะสามารถกรองเฉพาะสีได้ ซึ่งหากถ่ายใบไม้ที่สุขภาพดี สีเขียวก็จะสะท้อนออกมาเยอะเป็นพิเศษ ทำให้สามารถรู้ถึงสภาพความอุดมสมบูรณ์ของสวนและทราบว่าควรจะดูแลสวนส่วนไหนเป็นพิเศษ เพื่อที่จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพที่สุด
พัฒนาฟาร์มระบบออโต้
แนวคิดฟาร์มอัตโนมัติไม่ได้เป็นสิ่งใหม่เพราะมีเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานแล้ว แต่ปัญหาคือค่าใช้จ่ายสูง ไม่คุ้มค่าต่อการนำมาใช้จริง ซึ่งนักวิจัยร่วมกันพัฒนาระบบรดน้ำอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ที่มีชื่อว่า ‘Smart Farm Kit’ ซึ่งนอกจากจะสามารถใช้ได้จริงแล้ว ยังสามารถติดตั้งได้ในราคาแสนประหยัด ประมาณ 1,000 บาทก็สามารถติดตั้งระบบได้ 1 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 625 ไร่เลยทีเดียว ผลจากการทดลองใช้จริงคือนอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระของเกษตรกรได้พอสมควร ยังช่วยประหยัดน้ำได้มาก เพราะสามารถกระจายน้ำได้ดีกว่าใช้สายยางทั่วไป
เช่นเดียวกับทุกอุตสาหกรรมที่เส้นแบ่งระหว่างอุตสาหกรรมค่อย ๆ เลือนลาง ก้าวต่อไปของเทคโนโลยีการเกษตรจะเติบโตคู่กับเทคสตาร์ทอัพ (Tech-Startup) มากขึ้น ถือกำเนิดเป็นวิทยาการที่เรียกว่า Agri-Tech (Agricultural Technology) เต็มรูปแบบ เช่น หากนำระบบให้น้ำอัตโนมัติ (Smart Farm Kit) มาพัฒนาต่อ ควบคุมทั้งน้ำ อุณหภูมิ และความชื้นในพื้นที่เพาะปลูกผ่านแอปพลิเคชั่นได้ ก็จะทำให้ได้ผลผลิตที่มีมาตรฐานสูงขึ้น สามารถควบคุมคุณภาพให้ดีขึ้น เป็นต้น
แน่นอนว่าขณะนี้เรายังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาในหลาย ๆ ส่วน ซึ่งต้องอาศัยการจับมือกัน ระหว่างเกษตรกรที่ต้องเปิดรับเทคโนโลยีที่ทันสมัยและทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์เองก็ต้องรับฟังความต้องการและปัญหาของเกษตรกร สร้างวิทยาการที่ทั้งล้ำสมัยและใช้ได้จริง ทำให้อู่ข้าวอู่น้ำแห่งนี้ไม่เป็นสองรองใครอีกครั้งหนึ่ง